สำหรับบางคน เพียงแค่มีความมุ่งมั่นแต่เพียงอย่างเดียวก็จะทำตามที่ตนตั้งใจไว้ให้สำเร็จลุล่วงได้โดยไม่ยากนัก เพราะคนบางคนมีความมุ่งมั่นที่เข้มข้น มีความมุ่งมั่นที่สอดคล้องกับตัวเอง หรือความชอบของตนเอง หรือมีความมุ่งมั่นไม่หลายเรื่องเกินไปจนเกิดการเจือจาง หรือเรื่องที่ตนมุ่งมั่นเป็นเรื่องที่ครอบคลุมความสำเร็จในชีวิตหลายข้อไว้ด้วยกัน
ยกตัวอย่างเช่น มุ่งมั่นอยากจะมีเงิน 100 ล้านบาทอย่างสุจริต ก็จะต้องประสบความสำเร็จในหลายเรื่องกว่าจะได้มีเงินดังกล่าว และถ้ามุ่งมั่นต่อไปว่าจะรักษาเงินที่ได้มาให้ดีที่สุด ก็จะทำให้ตนดูแลเรื่องการใช้จ่าย เก็บเงินไว้ในที่ที่ปลอดภัย หรือไม่เล่นการพนัน ไม่ลงทุนที่เสี่ยงจนเกินไป แต่ถ้าอีกคนหนึ่งมุ่งมั่นอยากจะเป็นเจ้าของกิจการซึ่งอาจจะเป็นร้านขายหนังสือ เพราะตนเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ความมุ่งมั่นก็อาจจะสำเร็จได้ง่ายกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาผู้นั้นจะมีฐานะดี หรือมีความสุขในร้านหนังสือนั้นจริงๆ
เมื่อเปรียบเทียบแล้ว คนที่มุ่งมั่นจะมีเงินมาก ๆ จะมีความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนที่มุ่งมั่นจะมีร้านหนังสือเป็นของตนเอง ถ้ามีร้านหนังสือใหญ่ ๆ ก็อาจจะมาเงินเป็น 100 ล้านบาทได้ แต่ต้องถามด้วยว่าโอกาสหรือความง่ายยากต่างกันอย่างไร คนที่ตั้งใจว่าจะมีเงิน 100 ล้านบาท ก็อาจจะทำธุรกิจอะไรก็ได้ กี่อย่างก็ได้ เพื่อที่จะได้ 100 ล้านบาทนี้ กับคนที่มุ่งมั่นจะมีร้านหนังสือก็ตั้งเข็มไปที่ร้านหนังสืออย่างเดียวเสียแล้ว ซึ่งโอกาสที่ร้านหนังสือจะสำเร็จและได้เงินมาก ๆ น่าจะมีน้อยกว่า
กลับมาถึง MOP ที่ต้องมีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ว่าจะทำตาม Mission ให้ได้ โดยไม่มีข้อแม้ โดยไม่มีเงื่อนไข คำว่าข้อแม้หรือเงื่อนไข ยกตัวอย่างได้ดังนี้
- ต้องมีคนสนับสนุน
- ต้องมีงบประมาณ หรือมาเงินเพียงพอ
- ต้องมีอำนาจสั่งการ
- สินค้าต้องส่งมาตรงเวลาทุก Lot
- ต้องมีข้อมูลเพียงพอ
- ต้องมีความรู้ในเรื่องนี้ก่อน
- ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ 100%
- ฯลฯ
เหล่านี้คือ ข้อแม้หรือเงื่อนไขที่หลาย ๆ คนมักตั้งไว้ในใจ และเมื่อระหว่างทำ MOP ให้บรรลุ เกิดมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่ตรงกับข้อแม้ หรือเงื่อนไขที่ตั้งไว้ในใจ ก็มักจะสรุปว่าที่ไม่บรรลุเพราะมีเหตุผลหรือความไม่พร้อมต่าง ๆ นานาที่กล่าวมา แต่ถ้าคนที่มุ่งมั่นอย่างไม่มีเงื่อนไขนั้น แม้ไม่มีปัจจัยสนับสนุนอะไร เขาก็จะสร้างขึ้นมาให้มีให้ได้ หรือหาวิธีหรือแนวทางอะไรก็ได้ หรือมีความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้บรรลุ Mission ของเขาให้จงได้
ประสบการณ์จากการที่ได้แนะนำให้หลายบริษัท หลายหน่วยงานทำ MOP ผู้เขียนพบว่า ผู้บริหารบางคนไม่มีความเชื่ออย่างแท้จริงว่า MOP จะช่วยให้เขาหรือหน่วยงานของเขาดีขึ้นได้ บางคนมีความเข้าใจในหลักคิดยากกว่าอีกคน บางคนก็เป็นคนที่จะเข้าใจ หรือปฏิบัติตามกระบวนการที่คนอื่นตั้งไว้ให้ตนทำไม่ได้เลย หรือบางคนถ้าใครบอกให้ทำอะไรต้องทำตรงข้าม บางคนก็เป็นประเภทที่จะทำอะไรต้องคิดด้วยตนเองเท่านั้นจึงจะตั้งใจทำ (ปรากฏการณ์อย่างนี้ในกลุ่มข้าราชการทหารน่าจะมีน้อยกว่าในกลุ่มเอกชน)
ถึงแม้บางคนที่เชื่อว่า MOP น่าจะได้ประโยชน์ ก็อาจจะขาดแรงผลักดัน (Drive) เพราะหน่วยงานของตนมีสภาพที่ดีอยู่แล้ว บางคนที่เชื่อแล้วลงมือปฏิบัติ แต่เมื่อทำไปแล้วสักพักหนึ่งแล้วพบอุปสรรค ก็เพียงแต่รับรู้ว่ามีอุปสรรคนั้น ๆ แต่ไม่มีมาตรการที่เข้มแข็งพอที่จะฟันฝ่าอุปสรรค หรือไม่ทราบ หรือมองไม่เห็นทางที่จะแก้ปัญหา (คนเหล่านี้ต้องพูดกับตนเองบ่อย ๆ ว่า เราทำได้ๆๆๆๆๆ)
บางคนมีมาตรการแต่เป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับปัญหาหรือความเร่งด่วนของปัญหา หรือขาดการประเมินน้ำหนักของการแก้ปัญหาว่าจะได้ผลมากน้อยเพียงใด หรือประเมินผิด ๆ อยู่เป็นประจำ
อีกประการหนึ่งซึ่งทำให้ MOP ไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะการไม่เอาใจใส่ในการติดตามอย่างต่อเนื่องและมีวินัยจะทำให้สามารถปรับแต่ง Objective หรือแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
จุดสำคัญที่สุดคือ ต้องไม่มีคำว่า ยอมแพ้ (Give Up) ต่อ Mission ที่เราตั้งขึ้น ถ้าตั้งว่าต้องถึงเป้าหมายเดือนนี้เท่าไร ก็ต้องทำให้ถึงให้ได้ ถ้าทำไม่ถึงเป้าหมายในเดือนนี้ ก็ต้องทำชดเชยในเดือนหน้าให้ถึง หรือชดเชยของทั้งไตรมาสให้ถึงให้ได้ ดังนั้น การติดตามขั้นตอนและผลของการแก้ปัญหา เพื่อให้ถึงเป้าหมายของเดือน เป้าหมายของไตรมาส จึงต้องกระทำอย่าง เข้มแข็ง แข็งแรง และเข้มข้น